ชนเผ่าม้ง “ผู้หญิงทอผ้า ผู้ชายตีเหล็ก”

ม้ง เป็นกลุ่มชนเผ่าที่สืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษที่อาศัยอยู่ใน ประเทศจีน เมื่อแพ้สงครามจึงค่อย ๆ
ถอยร่นอพยพเข้าไปอาศัยอยู่ใน ประเทศพม่า ประเทศลาว ก่อนที่จะค่อยๆ ย้ายถิ่นฐานทำมาหากินเข้า มาอาศัยบนดอยสูงในประเทศไทย ปัจจุบันม้งที่พบมากในประเทศไทย อาจแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มหลักคือ ม้งขาวและม้งลาย

ชนเผ่าม้งขึ้นชื่อว่าเป็นกลุ่มชาวไทยภูเขาที่มีความขยันขันแข็ง เป็นพิเศษ สมาชิกทุกคนในครอบครัวต่างต้องช่วยกันทำมาหากินอย่างหนัก ในช่วงเวลาว่างหลังเสร็จงานเกษตรกรรมเพาะปลูกในไร่นา ผู้ชาย ชาวม้งจะง่วนอยู่กับการตีเหล็กและเครื่องเงิน ขณะที่ฝ่ายผู้หญิงจะจับเข็มขึ้นมาเย็บปักเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม นั่นจึงเป็นที่มาของคำกล่าวถึงวิถีชีวิต ชาวม้งตั้งแต่โบราณกาลที่ว่า “ผู้หญิงปักผ้า ผู้ชายตีมีด”

การปักผ้าเป็นวิถีชีวิตของชาวเขาเผ่าม้งที่ใช้เวลาว่างหลังจาก ทำงานเกษตรกรรมในแต่ละวัน ผ้าปักม้ง
เป็นงานฝีมือที่สืบทอดมาจาก บรรพบุรุษนับหลายร้อยปี หญิงสาวชาวม้งทุกคนจะร่ำเรียนวิชาปักผ้า จากผู้เป็นมารดาของตนตั้งแต่อายุยังไม่ถึงสิบปี เชื่อกันว่าชนเผ่าม้งกับ การปักผ้าเป็นสิ่งที่อยู่คู่กันมานานจนถึงกับมีคำกล่าวกันในชนเผ่าม้งว่า มีม้งเกิดขึ้นเมื่อไรก็มีการปักผ้ามาตั้งแต่เมื่อนั้น

เสื้อผ้าประจำชนเผ่าม้งมักจะใช้สีดำเป็นหลัก ชาวม้งไม่ว่าจะ เป็นกลุ่มม้งขาวหรือม้งลายจึงนิยมสร้างลวดลายบนเสื้อผ้าของตนด้วย งานปักที่ใช้เส้นด้ายสีสันสดใส อย่างไรก็ตาม ชาวม้งจะไม่นิยมใช้สีแดง ประดับบนเสื้อผ้า เพราะมีความเชื่อว่าสีแดงเป็นสีรุนแรง เป็นสีที่เกี่ยวข้อง กับอุบัติเหตุไม่เป็นมงคล จะใช้เฉพาะในงานศพเท่านั้น

การสร้างสรรค์ลวดลาย – ชาวเขาเผ่าม้งเป็นชนเผ่าที่มีวิถีชีวิตอยู่กับธรรมชาติ ป่าเขาลำเนาไพร ประกอบกับเป็นชนเผ่าเปี่ยมไปด้วย จินตนาการ มีเรื่องเล่าขาน มีตำนานปรัมปรามากมายที่ได้รับการบอก เล่าจากบรรพบุรุษสืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ขณะเดียวกันชาวเขาเผ่าม้ง ยังเป็นกลุ่มชนเผ่าที่มีภาษาเขียนเป็นของตนเอง ดังนั้นการสร้างสรรค์ ลวดลายบนผืนผ้าของบรรพบุรุษชาวเผ่าม้ง นอกจากจะมีลวดลายที่ จินตนาการเลียนแบบมาจากธรรมชาติ ต้นไม้ สัตว์ สิ่งแวดล้อม ตลอดจน ข้าวของเครื่องใช้ และวิถีชีวิตประจำวันของชนเผ่าแล้ว ก็ยังปรากฏ ศิลปะลวดลายที่ได้รับอิทธิพลมาจากความเชื่อ ตำนาน หรือเรื่องเล่า ตลอดจนถึงลวดลายที่มีลักษณะคล้ายการเลียนแบบอักษรโบราณของ ชนเผ่าม้งร่วมอยู่ด้วย

ชาวเขาเผ่าม้งนับเป็นชนเผ่าที่มีพัฒนาการการสืบทอดงานศิลปะ บนผืนผ้าในแนวอนุรักษ์อย่างเข้มแข็ง ดังจะเห็นได้ว่าลวดลายต่าง ๆ ที่ ปรากฏบนผืนผ้าส่วนใหญ่ในปัจจุบัน ยังคงเค้าโครงหลักตามลักษณะ ของลวดลายโบราณดั้งเดิมที่สืบทอดต่อกันมาจากบรรพบุรุษทั้งหลาย ชั่วอายุคน เช่น ลายกากบาท ลายก้นหอย ฯลฯ และถึงแม้หญิงชาวม้งรุ่นต่อ ๆ มา จะมีการคิดประดิษฐ์สร้างสรรค์ลวดลายเพื่อปักลงบนผืนผ้า ตามจินตนาการของตนเองเพิ่มเติม แต่ก็ยังคงเอกลักษณ์และลักษณะ ของลวดลายโบราณดั้งเดิมเป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งของลวดลายเหล่านั้น ได้อย่างครบถ้วนและชัดเจน ดังจะเห็นได้ว่าลวดลายบนผืนผ้าปักม้งของ หญิงชาวม้งแต่ละคนนั้น หากมองดูในภาพรวมจะเห็นเอกลักษณ์ของ ลวดลายโบราณปรากฏอยู่คล้ายคลึงกันแทบทุกผืน ต่อเมื่อดูในรายละเอียด แล้วจึงจะพบว่า มีความแตกต่างกันที่ซ่อนเร้นอยู่ในลวดลายอย่างประณีต งดงาม

เทคนิคการสร้างสรรค์ลวดลาย – ศิลปะการสร้างสรรค์ลวดลาย ของชนเผ่าม้งโดยหลักแล้ว มีอยู่ 3 เทคนิคด้วยกันคือ การปัก การเย็บติด และการเขียนเทียน ทั้ง 3 วิธีแม้จะมีอุปกรณ์ ขั้นตอน หรือวิธีทำที่แตก ต่างกัน แต่หลักสำคัญที่ปรากฏให้เห็นจนเป็นเอกลักษณ์เดียวกันในม้ง ทุกกลุ่มอย่างชัดเจนนั่นก็คือความละเอียดของชิ้นงาน จะสังเกตได้ว่า ศิลปะลวดลายบนผืนผ้าของชาวม้งจะนิยมลวดลายที่มีความละเอียด และจะนิยมการปัก การเย็บหรือเขียนลวดลายต่อเนื่องจนเต็มแน่นตลอด ผืนผ้า งานของชาวม้งไม่นิยมการเว้นที่ว่างโล่งบนผืนผ้าอย่างไร้ความหมาย การจัดลวดลายที่ดีและสมบูรณ์ตามศิลปะของชาวม้งจะต้องมีทั้งลายหลัก ลายประกอบเล็กน้อยต่างสีสันลดหลั่นกันไปจนเต็มตลอดผืนผ้า ลวดลาย เอกลักษณ์ในผ้า 1 ผืนของชาวม้ง ไม่ว่าจะสร้างสรรค์ด้วยเทคนิคใดมัก จะมีลวดลายปรากฏอยู่ไม่น้อยกว่า 3-4 ลวดลาย กลายเป็นเอกลักษณ์ ศิลปะลวดลายบนผืนผ้าที่มีสีสันแพรวพราวสะดุดตาเป็นอย่างยิ่ง

เอกลักษณ์ลวดลายที่ปรากฏบนผืนผ้าชาวเขาเผ่าม้งดังที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของลวดลายโบราณดั้งเดิมที่ชน เผ่าม้งได้มีการสืบทอดต่อกันตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษจากรุ่นสู่รุ่นจนถึง ปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ลวดลายทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลเฉพาะของกลุ่ม ชนเผ่าม้งขาว ที่เป็นสมาชิกชาวเขาเผ่าม้งในโครงการศิลปาชีพพื้นที่ เป้าหมายที่ทำการเก็บข้อมูล และชนเผ่าม้งลายในพื้นที่บ้านดอยปุย จังหวัดเชียงใหม่เท่านั้น ดังนั้น ที่มา ความเชื่อ หรือตำนานการเกิด ขึ้นของลวดลาย ตลอดจนการเรียกชื่อลวดลายเอกลักษณ์โบราณ ด้วยภาษาของชนเผ่าม้งในท้องถิ่นดังกล่าว จึงอาจมีความผิดเพี้ยน หรือแตกต่างจากชาวม้งในท้องถิ่นอื่นอยู่บ้าง ทั้งนี้ก็สืบเนื่องมาจาก การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการทางภาษา วัฒนธรรม และประเพณี ของชนเผ่าม้งที่มีความหลากหลายและแตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่น นั่นเอง

เทคนิคการสร้างสรรค์ลวดลายที่สะท้อนทักษะฝีมือ “ผ้าชนเผ่าม้ง”

การปัก

หญิงชาวม้งทั้งกลุ่มม้งลายและม้งขาว ต่างมีทักษะความเชี่ยวชาญ ในด้านการปักผ้าเช่นเดียวกันผู้หญิงชาวม้งจะใช้เข็มเล่มเล็ก ๆ ค่อยๆ ปัก ลวดลายพร่างพราวจนเต็มผืนผ้า อย่างไรก็ตาม ศิลปะการปักผ้าของหญิง ชาวเผ่าม้ง ยังอาจแบ่งเทคนิคในการปักออกได้เป็นหลายรูปแบบด้วยกัน เช่น เทคนิคการตัดผ้าเป็นลวดลายแล้วนำมาเย็บติดซ้อนกับผ้าพื้น อีกชั้นหนึ่งที่เรียกว่า เจี๋ย ความยากของเทคนิคนี้อยู่ที่ความละเอียดโดยต้องใช้เข็มเย็บผ้าเบอร์เล็กสุด ปักด้วยเส้นด้ายที่เล็กบางที่สุด โดยนำเส้นด้ายธรรมดามาแยกเป็น 3 เส้น ตัวอย่างเช่น การปักลายก๊ากื้อ (ก้นหอย) ซึ่งนับเป็นลายที่ยากมาก ช่างฝีมือต้องมีทักษะความเชี่ยวชาญใช้ความละเอียดและความอดทนมากเป็นพิเศษจึงจะปักลวดลายนี้ได้สําเร็จ ถือเป็นเทคนิคที่เก่าแก่และยากที่สุด

การเขียนเทียน

การเขียนเทียน เป็นศิลปะการสร้างลวดลายบนผืนผ้าที่มีเฉพาะในกลุ่มหญิงชาวม้งลายเท่านั้นผู้หญิงชาวม้งลายจะใช้เทคนิคนี้ วาด ลวดลายให้เกิดขึ้นมากมายลงบนผืนผ้าที่ตระเตรียมไว้เพื่อตัดเย็บเป็น กระโปรง โดยรวมแล้วกระโปรงแต่ละตัวของสาวชาวม้งลายกว่าจะผ่าน กระบวนการเขียนเทียน ย้อมสีและอัดกลีบจนแล้วเสร็จ ต้องใช้เวลาใน การทำยาวนานถึงเกือบ 1 ปี
เทคนิคการเขียนเทียนมีลักษณะคล้ายการทำผ้าบาติกที่รู้จักกัน แพร่หลายในปัจจุบัน หญิงชาวม้งลายจะใช้อุปกรณ์แท่งเล็ก ๆ ทำจากไม้ กับทองแดงที่เรียกว่าหลาจัง จุ่มลงบนเทียนหรือขี้ผึ้งร้อนๆ แล้วนำมาวาดลวดลายบนผ้าใยกัญชงหรือผ้าฝ้ายที่เตรียมไว้ เมื่อเสร็จแล้วก็จะนำผ้า ไปย้อมเย็นด้วยสีน้ำเงินธรรมชาติจากต้นกิ่งเมื่อผ้าทั้งผืนกลายเป็น สีน้ำเงินเข้มตามต้องการแล้ว จึงนำผ้าไปต้มด้วยความร้อนให้เทียนละลาย เพียงเท่านี้ก็จะได้ผ้าสีน้ำเงินมีลวดลายเขียนเทียนเป็นสีขาวกระจาย สวยงามอยู่ทั่วทั้งผืน เสร็จสรรพจึงนำไปพับอัดกลีบเป็นกระโปรง แล้วจึง นำมาสวมใส่เป็นชุดประจำชนเผ่าที่งดงาม

ลวดลายปักวิถีชีวิตม้ง

นอกจากชาวม้งจะมีฝีมือการเขียนเทียนและการปักผ้าที่เลื่องลือแล้ว ชาวม้งลายยังมีความชาญฉลาดในการเล่าเรื่องราวที่แสดงออกถึงวิถี ชีวิตของชนเผ่าผ่านศิลปะงานปักบนผืนผ้า ไม่ว่าจะเป็นการบอกเล่าถึงความเป็นไปในวิถีชีวิตความเป็นอยู่ การประกอบอาชีพ ลวดลายที่แสดงถึง การเล่าเรื่องราววิถีชีวิตเหล่านี้ใช้เทคนิคการปักลวดลายแบบทึบ หรือที่เรียกว่า เชี้ย
บนผืนผ้า 1 ชิ้นนั้น อาจมีการปักผ้าเป็นเรื่องราวที่บอกเล่าเป็นลำดับเรื่องต่อเนื่องกันหลายเรื่อง

เช่น ภาพปักวิถีชีวิตชาวม้งชายหญิง ตั้งแต่ ออกจากบ้านไปนาปลูกข้าว ไปไร่ปลูกข้าวโพด กลับมาถึงบ้านก็ตักน้ำ ให้อาหารสัตว์ หรือ ภาพนักแสดงวิถีการเพาะปลูก ตั้งแต่การเริ่มต้นปลูก รดน้ำ เก็บเกี่ยวพืชผล สำหรับศิลปะและเทคนิคการปักลวดลายลักษณะเช่นนี้ ต้องอาศัยทั้งจินตนาการ ความอดทน และฝีมือในการปักค่อนข้างสูง ปัจจุบันจึงมีชาวม้งที่ปักผ้าในลักษณะนี้ได้เหลืออยู่ค่อนข้างน้อยมาก

s

อ้างอิง : หนังสือเย็บ ปัก ถักทอ เอกลักษณ์และศิลปะผ้าชาวเขา จัดทำโดย ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน)